ดูดวงจิตวิทยาทายนิสัยจากฤดูที่ชอบ
แต่ละคนเกิดมาในฤดูที่แตกต่างกัน ฤดูที่ชื่นชอบก็มีความแตกต่างกันไป มาลองทายกันว่าคนที่ชอบฤดูไหนมีนิสัยเป็นอย่างไร
ฤดูหนาว
คนที่ชอบฤดูหนาวจะมีลักษณะของความเป็นผู้นำสูง เชื่อมั่นในตัวเองมาก มีพลังในการกระทำทุกสิ่งได้อย่างไม่สิ้นสุด แล้วยังยึดถือในความถูกต้องอีกต่างหาก ทั้งยังเป็นคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแนวคิดของตัวเองโดยง่ายหากเชื่อมั่นว่าสิ่งนั้นถูกต้องแล้ว ไม่ค่อยเปิดเผยชีวิตส่วนตัวให้ใครรับรู้นัก นอกจากนี้ยังเป็นคนที่ชอบใช้ชีวิตอย่างอิสระ เช่น การได้อยู่กลางแจ้งหรือเดินทางท่องเที่ยวผจญภัย เป็นต้น
ฤดูร้อน
คนที่ชอบบรรยากาศของฤดูร้อนมากที่สุดนั้น บ่งบอกว่าเขาหรือเธอคนนี้เป็นผู้ที่มีนิสัยใจคอเปิดเผยและซื่อสัตย์อย่างยิ่ง แต่ค่อนข้างคิดมาก มักจะมีเรื่องต่าง ๆ ให้ครุ่นคิดวิตกกังวลเสมอ ทำให้เป็นคนที่ชอบแสวงหาชีวิตที่สุขสบาย อิสระ ไม่มีความทุกข์มาบั่นทอนจิตใจ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหว ต้องการความรักและคำปลอบโยนอยู่เสมอ และยังให้ความสนใจในเรื่องความสวยความงามเป็นพิเศษ
ฤดูฝน
คนที่ชอบฤดูฝนเอามาก ๆ นั้น บอกถึงความเป็นคนเจ้าอารมณ์อยู่ไม่น้อยทีเดียว ทั้งยังขี้เหงา ช่างฝัน และช่างจดช่างจำเสียเหลือเกิน แม้แต่เรื่องที่นำมาซึ่งความปวดร้าว เป็นคนที่ชอบคิดถึงอดีตและมีความคิดว่าตัวเองเป็นคนโชคร้ายอยู่เสมอ หากหลงรักใครก็จะรักอย่างมาก แต่ถ้าใครทำให้ผิดหวังก็จะจำไม่ลืมอีกเช่นกัน ชีวิตจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ใช่คนที่ชอบอยู่นิ่งกับที่ แต่จะแสวงหาความแตกต่างหลากหลายให้กับชีวิต
ฤดูใบไม้ผลิ
ฤดูนี้อาจจะไม่มีในเมืองไทย แต่คงไม่แปลกหากใครจะชอบบรรยากาศของฤดูนี้เอามาก ๆ ซึ่งจะบ่งบอกได้ว่าคุณเป็นคนโรแมนติกมาก ชอบชีวิตที่ละเมียดละไมหรือเนี้ยบไปเสียทุกเรื่อง เป็นคนกระตือรือร้นและมีความใฝ่ฝันอยู่ในใจเสมอ ทั้งยังโปรดปรานการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้คน โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาวที่มีพลังไม่รู้จักสิ้นสุด มองโลกสวยงามยิ่งนัก และสนใจในเรื่องศิลปะวรรณกรรมเป็นพิเศษ
ฤดูใบไม้ร่วง
ฤดูนี้ก็ไม่มีในเมืองไทยเช่นกัน แต่จะรวมอยู่ในฤดูหนาวเหมือนกับฤดูใบไม้ผลิ ใครที่ชอบฤดูนี้จะมีลักษณะของแฟมิลี่แมน คือ ให้ความสำคัญกับครอบครัวของตนมาก แต่ก็ช่างฝันและอ่อนไหว มีชีวิตขึ้นอยู่กับความรักใคร่มากพอควร ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่มีความสามารถในการจัดการ เป็นคนวางแผนเก่ง วางระบบระเบียบในชีวิตของตนเองได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว
C:\fakepath\